ประวัติความเป็นมา



ผ้าบาติกหรือผ้า ปาเต๊ะ
เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดในส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี *คำว่า “บาติก” ( Batik ) เดิมเป็นคำภาษาชวา ใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด คำว่า “ติก”มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือ จุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ตริติก” หรือ “ตาริติก” ดั้งนั้นผ้าบาติก จึงมีความหมายว่า ผ้าที่มีลวดลายเป็นจุดๆ ด่างๆ *แหล่งกำเนิดผ้าบาติก การทำผ้าบาติกมีมานานตั้งแต่โบราณร่วม 2000 ปีมาแล้ว ประเทศที่ทำผ้าบาติกจนมีชื่อเสียงได้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย แหล่งกำเนิดผ้าบาติกมาจากไหนยังไม่เป็นที่ยุติ นักวิชาการชาวยุโรปหลายคนเชื่อว่า ผ้าบาติกมีในอินโดนีเซียก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปในอินเดีย แต่อีกหลายคนเชื่อว่ามาจากยิปต์หรือเปอร์เชีย แม้ว่าจะมีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่นๆ ทั้งอียิปต์ อินเดีย จีน และญี่ปุ่นแต่บางคนยังเชื่อว่า ผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซียและยืนยันว่าศัพท์เฉพาะที่เรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก ก็เป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซียแท่งขี้ผึ้งชนิดที่ใช้เขียนลายก็เป็นของอินโดนีเชีย สีที่ใช้ย้อมก็มาจากพืชที่มีในอินโดนีเซีย แท่งขี้ผึ้งชนิดที่ใช้เขียนลายก็เป็นของอินโดนีเซีย ไม่เคยมีในอินเดียเลย เทคนิคที่ใช้ในอินโดนีเซียสูงกว่าที่ทำกันในอินเดีย และจากการศึกษาค้นคว้าของ N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ ก็สรุปไว้ว่า การทำโสร่งบาติกหรือโสร่งปาเต๊ะ เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนติดต่อกับอินเดีย
จากการศึกษาของบุคคลต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะมีการค้นพบลักษณะผ้าบาติกในดินแดนอื่นๆ นอกจากอินโดนีเซีย แต่ก็คงเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น วิธีการปลีกย่อยจะแตกต่างกัน
ตามวิธีการทำผ้าของชาติต่างๆ ที่จะทำให้มีลวดลายสีสัน ผ้าบาติกของอินโดนีเซีย น่าจะมีกำเนิดในอินโดนีเซียเอง คงไม่ได้รับการถ่ายทอดจาดชาติอื่น ในทางกลับกันระยะต่อมา วิธีการทำผ้าบาติกของอินโดนีเซีย ได้รับการเผยแพร่ไปยังชาติอื่นๆ ส่วนมากทำผ้าโสร่งบาติกนั้น คงมีกำเนิดจากอินโดนีเซียค่อนข้างแน่นอน
การทำผ้าบาติกในระยะแรกคงทำกันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงหรือทำเฉพาะในวัง แต่ ก็มีผู้ให้ความเห็นขัดแย้งว่า น่าจะเป็นศิลปะพื้นบ้านใช้กันเป็นสามัญ ผู้ที่ทำผ้าบาติกมักจะเป็นผู้หญิงและทำกันหลังจากว่างจากการทำนา
ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ประชาชนชวาได้ปรับปรุงวิธีการผ้าบาติก แก้ไขวิธีการผสมสี แต่ทั้งนี้ก็วิวัฒนาการมาจากความรู้ดั้งเดิม ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 การทำผ้าบาติกผูกขาดโดยสุลต่าน และถือว่าการทำผ้าบาติกเป็นศิลปะในราชสำนักเป็นผู้ผลิต ผ้าบาติกในยุคนี้เรียกว่า “ คราทอน ” ( Kraton ) เป็นผ้าบาติกที่เขียนด้วยมือ ( Batik Tulis ) แต่เมื่อผ้าบาติกได้รับความนิยมมากขึ้นและมีลูกค้ามากมาย การทำผ้าบาติกก็ได้ขยายวงกว้างมากขึ้น การผูกขาดโดยครอบครัวสุลต่านก็สิ้นสุดลง ศิลปะการทำผ้าบาติกได้แพร่หลายไปสู่ประชาชน โดยทั่วไป
ผ้าบาติกในระยะแรกมีเพียงสีครามและสีขาวในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีการค้นพบสีอื่นๆอีก เช่น สีแดง สีน้ำตาล สีเหลือง สีต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาจากพืชทั้งสิ้น ต่อมาก็รู้จักผสมสีเหล่านี้ ทำให้ออกเป็นสีต่าง ๆ ภายหลังจึงมีการค้นพบสีม่วง สีเขียว และสีอื่น ๆ ในระยะต่อมา
ผ้าบาติกเป็นผ้าที่ผ่านการถ่ายทอด ทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเป็นเวลากว่า 2,000 ปี มาแล้ว ความนิยมในการใช้ผ้าบาติกโดยเฉพาะในเกาะชวานั้นเดิมทำใช้กับเฉพาะสตรี และเด็กเท่านั้น ต่อมาได้ประยุกต์ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของหนุ่มสาวมี 3 ชนิด
1. โสร่ง ( Sarung ) เป็นผ้าที่ใช้นุ่งโดยการพันรอบตัว ขนาดของผ้าโสร่ง โดยทั่วไปนิยมผ้าหน้ากว้าง 42 นิ้ว ยาว 2 หลาครึ่งถึง 3 หลาครึ่ง ผ้าโสร่งมีลักษณะพิเศษส่วนที่เรียกว่า “ ปาเต๊ะ ” หมายถึงส่วนที่ต้องนุ่งให้ตรงกับสโพก โดย มีลวดลายสีสันแปลกต่างไปจากส่วนอื่นๆ ในผ้าผืนเดียวกัน
2. สลินดัง ( Salindang ) หมายถึง ผ้าซึ่งใช้นุ่งทับกางเกงของบุรุษหรือเรียกว่า “ ผ้าทับ“ เป็นผ้าที่เน้นลวดลายประดับเป็นกรอบหรือชาย ผ้าสลินดัง มีความประมาณ 3 หลา กว้างประมาณ 8 นิ้ว สตรีนิยมนำเอาผ้าสลินดังคลุมศรีษะ
3. อุเด็ง ( Udeng ) หรือผ้าคลุมศรีษะ โดยทั่วไปจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ผ้าชนิดนี้สุภาพบุรุษใช้โพกศรีษะเรียกว่า “ ซุรบาน “ สำหรับสตรีจะใช้ทั้งคลุมศรีษะ และปิดหน้าอกเรียกว่า “ คิมเบ็น “
( Kemben ) ผ้าอุเด็งนิยมลวดลายที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยม ผ้าคลุมชนิดนี้ไม่ปิดบ่าและไหล่ เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ทำงานหนัก เพื่อจะได้เคลื่อนไหวได้สะดวก
สำหรับผ้าสลินดัง ภายหลังได้ทำขนาดให้ยาวขึ้น โดยใช้ผ้าหน้ากว้าง 42 นิ้ว ยาว 4 – 5 หลา ต่อมาได้มีการดัดแปลงเป็นเครื่องแต่งกายอื่นๆ ได้ การใช้ผ้าบาติกได้นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งบุรุษ สตรี เด็ก จนกลายเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติ แม้กระทั่งเครื่องแบบนักเรียน นับเป็นความพยายามของคนรุ่นต่อมา ที่ได้พยายาม ปรับปรุงและพัฒนาการทำผ้าบาติกให้มีความก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาการด้านอื่น ๆ จนกลายเป็นสินค้าที่ถูกใจชาวต่างชาติ ได้จัดจำหน่ายเป็นสินค้าออก ซึ่งทำให้ผ้าบาติก และเทคนิคการทำผ้าบาติกแพร่หลาย ออกไปสู่ประเทศอื่น
ลักษณะการเลือกผ้า
ผ้าที่นำมาใช้ทำผ้าบาติกในยุคแรกๆ ใช้ผ้าที่ทอขึ้นเองในเกาะชวา โดยทอจากใยฝ้ายดิบซึ่งเรียกว่า “ ผ้าคราทอน “ ( Kian Kraton ) ลักษณะเส้นใยหนาและหนัก ไม่เหมาะกับการเขียนเทียนและระบายสี ดังนั้น ภายหลังจึงได้มีการปรับปรุงให้ผ้ามีลักษณะอ่อน บาง และเรียบ ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับอังกฤษและฮอลันดา จึงมีการสั่งผ้ามาจากต่างประเทศมาใช้

เอกสารอ้างอิง
กระบี่บาติก.  เกร็ดความรู้เรื่องผ้าบาติก.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : krabibatik.wordpress.com.
       (วันที่ค้นข้อมูล : 17 ตุลาคม 2559).

จันทราบาติก. "บ้านบาติก". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : koryahpic.wordpress.com.     
       (วันที่ค้นหาข้อมูล : 17 ตุลาคม 2559).


จิราภรณ์  เจริญเดช.  ผ้าไทย.  พิมพ์รั้งที่ ๑.  กรุงเทพมหานคร : บริษัทโอเอสพริ้นติ้งเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๔๕.
สมพร  ธรรมรัตน์.  งานบาติก.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แม่บ้านจำกัด, ๒๕๓๘.
สมชาย  นิลอาธิ.  ผ้าไทย พิมครั้งที่ ๑.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แม่บ้านจำกัด, ๒๕๓๗.
เอกสรรค์  อังคารวัลย์.  ประวัติบาติก.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : johaneksan.yolasite.com.
       (วันที่ค้นข้อมูล : 17 ตุลาคม 2559).


Creative Commons License
This work is licensed under a Creative Commons Attribution 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น